Accessibility Tools

ศาลจังหวัดภูเก็ต
Phuket Provincial Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลจังหวัดภูเก็ต

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  ประวัติศาลจังหวัดภูเก็ต

            ศาลจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่เลขที่ 25  ถนนดำรง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต บนเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 89 ตารางวา ตรงบริเวณเชิงเขาโต๊ะแซะ บนเนินสูงกว่าระดับถนนประมาณ 4 เมตร ที่ตั้งอาคารศาลเหมาะสมแลดูโอ่อ่า มีบริเวณกว้างขวาง เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเมืองถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง สมกับเป็นที่ตั้งทำการศาลยุติธรรม    ทำการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับชีวิต อิสรภาพ เสรีภาพ ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนพลเมืองทั้งหลาย

         เดิมศาลจังหวัดภูเก็ตเป็นที่ทำการศาลมณฑล มีศาลจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับศาลมณฑลภูเก็ต ได้แก่ ศาลจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ศาลจังหวัดพังงา ศาลจังหวัดตรัง ศาลจังหวัดกระบี่ ศาลจังหวัดสตูล ต่อมาที่ทำการศาลมณฑลได้ถูกเปลี่ยนเป็นสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค แล้วย้ายที่ทำการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคไปอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ ศาลมณฑลภูเก็ต จึงเปลี่ยนฐานะเป็นศาลจังหวัดภูเก็ต สำหรับที่ดินที่ตั้งอาคารศาลเดิม เป็นของนายตัน จอสุด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2459 นายตัน จอสุด  ได้อุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อปลูกสร้างศาลมณฑลภูเก็ต มีเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา  คือ ทิศเหนือยาว 2 เส้น 17 วา 1 ศอกเศษ ทิศใต้ยาว 2 เส้น 7 วา ทิศตะวันออกยาว 1 เส้น 9 วา  3 ศอกเศษ ทิศตะวันตก ยาว 12 วา 2 ศอกเศษ

            ตัวอาคารศาลนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างโดย จีนคอตี่  เมื่อปีพุทธศักราช 2458 ในสมัยที่ พระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ (สุดใจ ไกรจิตติ) เป็นอธิบดี ศาลมณฑลภูเก็ต และสร้างเสร็จ ในวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2459 งบประมาณทั้งสิ้น 30,550 บาท  โดยใช้เงินจากแผนกมหาดไทย ไม่เกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงยุติธรรม    อาคารปลูกตามแบบแปลนศาลมณฑลนครราชสีมา แต่ต่อเติมด้านหลังอีกห้องหนึ่งเพื่อให้กว้างขวางขึ้น เป็นตึกชั้นเดียวทรงสเปนแบบชิโนโปรตุกีส ยกพื้นที่สูงปูด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ตัวอาคารด้านซ้ายและขวาเป็นห้องพิจารณา 2 ห้อง ด้านหลังเป็นห้องทำงานคณะผู้พิพากษา ส่วนตรงกลางเป็นห้องทำงานของฝ่ายธุรการ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงห้องกลางซึ่งอยู่ระหว่างห้องธุรการกับห้องผู้พิพากษา ทำเป็นห้องพิจารณาเพิ่มขึ้น เพราะการที่มีห้องพิจารณาเพียง 2 ห้องไม่เป็นการเพียงพอ เนื่องจากคดีความได้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ตัวอาคาร มีเฉลียงด้านหน้าและด้านข้าง หน้ามุขเป็นครุฑพ่าห์  มีบันไดด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง รวม 7 บันได และอาคารหลังนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2520                   

            เมื่อปีพุทธศักราช 2508 ศาลจังหวัดภูเก็ตกับทางจังหวัดได้ตกลงแลกเปลี่ยนสถานที่กัน  โดยทางจังหวัดจะมอบที่ดินซึ่งขณะนี้ใช้เป็นสนามเทนนิสของสโมสรข้าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นที่ก่อสร้างอาคารศาลใหม่ การเจรจาแลกเปลี่ยนสถานที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว แต่เมื่อนายประภาศน์ อวยชัย ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ทำการศาลจังหวัดภูเก็ตตั้งอยู่ในชัยภูมิอันเหมาะสม สูงเด่นเป็นสง่างดงามเป็นศรีแก่บ้านเมือง ประกอบกับเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเมืองถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง จึงได้รับการคัดค้านจากชาวจังหวัดภูเก็ต นายประภาศน์ อวยชัย ได้ชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ ต่อกระทรวงยุติธรรม ในที่สุดกระทรวงยุติธรรมก็ยอมยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวอาคารศาล หลังเก่า เมื่อเปรียบเทียบกับอรรถคดีที่ขึ้นสู่ศาล ประกอบกับจำนวนเจ้าหน้าที่แล้วจะรู้สึกคับแคบไปมาก แม้ตัวอาคารจะมองดูว่าแข็งแรง แต่ปรากฏว่ามีสภาพชำรุดหลายแห่งเป็นต้นว่าหลังคารั่วพื้นชำรุด ในปีงบประมาณ 2524 กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณ 6,200,000 บาท มาทำการซ่อมแซม และต่อเติมอาคารไปทางด้านหลัง เป็นตึก 2 ชั้น ซึ่งการซ่อมแซม และ ต่อเติมครั้งนี้ดำเนินการโดยบริษัทผดุงวัฒน์ จำกัด สัญญาเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2524 เสร็จสิ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2525 ภายหลังบริษัทขอต่ออายุสัญญาการจ้างอีก 45 วัน ถึงวันที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2526

         สำหรับอาคารหลังเก่าได้ซ่อมแซมหลังคาและเปลี่ยนพื้นเป็นหินขัด ใช้เป็นห้องพิจารณาคดี  4 ห้อง ห้องอัยการและทนายความ 1 ห้อง ส่วนตัวอาคารนั้นคงรูปทรงไว้ตามเดิม เนื่องจากกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว สำหรับอาคารศาลที่ต่อเติมใหม่นั้น เป็นตึก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ชั้นล่างมีห้องทำงานของฝ่ายธุรการ 1 ห้อง ห้องเก็บสำนวน 1 ห้อง ห้องขังผู้ต้องหาหรือจำเลย 2 ห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องพิจารณา 2 ห้อง ห้องทำงานของคณะผู้พิพากษา 1 ห้อง และห้องสมุดศาล 1 ห้อง

            ในปีงบประมาณ 2526 กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณหนึ่งล้านบาทเศษ ก่อสร้างรั้วศาล โรงจอดรถยนต์ ลานจอดรถยนต์ เสาธง ปรับปรุงเคาน์เตอร์และห้องเก็บสำนวนเมื่อปีพุทธศักราช 2532 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้จัดสร้าง พระอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย และอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ หน้าอาคารศาลจังหวัดภูเก็ต โดยได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้น 1 ล้านบาทเศษ

             ในปีพุทธศักราช 2539 กระทรวงยุติธรรมได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 79 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ขนาด 11 บัลลังก์  โดยได้รับการบริจาคที่ดินจากนายวีระ จิรายุส ประธานกรรมการบริษัทในเครือโรงแรมเมอร์ลินภูเก็ต และนางลำไพ จิรายุส จำนวนเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา แต่การก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ต่อมามีการจัดจ้างผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิด  ทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พุทธศักราช 2545

         ศาลจังหวัดภูเก็ตมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดและได้รับเกียรติจากชาวจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากบรรพตุลาการ ได้สร้างสมคุณงามความดีมาโดยตลอด ในสมัยที่นายประภาศน์ อวยชัย ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนี้ ได้เป็นประธานสร้างอุโบสถ  วัดเจริญสมณกิจ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า "วัดหลังศาล" วัดแห่งนี้มีความผูกพันกับศาลมาโดยตลอด โดยศาลกับชาวจังหวัดภูเก็ต ร่วมทอดกฐินสามัคคี  มีข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทุกสาขาอาชีพ มาทำบุญร่วมกันอย่าง พร้อมเพรียงตามแต่โอกาส